วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตารีกีปัส

ตารีกีปัส

ตารีกีปัส เป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมทางใต้ คำว่า ตารีกีปัส เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง การฟ้อนรำที่ใช้พัดเป็นส่วนประกอบ ทำนองเพลงที่ใช้นำมาจากการแสดงชุด “ตาเรียนเนรายัง” ซึ่งเป็นเพลงประกอบการแสดงระบำประมงของชาวมาเลเซีย ส่วนชื่อเพลง คือ อีนัง ตังลุง เป็นเพลงผสมระหว่างมลายูกับจีน

การแต่งกาย มี ๒ ลักษณะ คือ ๑.การแต่งกายแบบแสดงคู่ชายหญิง
นิยมแต่งตามลักษณะของชนชั้นสูงของชาวไทยมุสลิมเต็มยศ ได้แก่
ชาย จะใส่เสื้อตือโล๊ะบลางอ มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมหรือคดตั้งแบบจีนแขนกว้างยาวจรดข้อมือ ผ่าอกครึ่งตัว กางเกงจะมีลักษณะเป็นกางเกงขายาวคล้ายกางเกงจีน ผ้านุ่งใช้ผ้ายกเงิน – ยกทอง หรือผ้าซอแกะนุ่งทับกางเกงสั้นเหนือเข่าเล็กน้อย จับเป็นดอกด้านหนึ่งหรือทำจีบทบกัน ๕ จีบ เพื่อเน้นความแปลกใหม่ เข็มขัด ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า “เป็นแนะ” มีความกว้างประมาณ ๕ นิ้ว คาดทับผ้าซอแกะอีกทีหนึ่งหมวก ทำด้วยผ้าเนื้อดีสีดำ ลักษณะคล้ายหมวกหนีบ 
หญิง จะสวมเสื้อ เรียกว่า “บานง” ภาษามลายูกลางจะเรียกว่า “บันดง” ซึ่งเป็นเสื้อเข้ารูปแขนยาว เน้นรูปทรงคอวี ผ่าอกหน้าตลอด มักติดกระดุมทองเป็นระยะ ตัวเสื้อยาวคลุมสะโพก เสื้อบานงมักใช้ผ้าค่อนข้างบาง อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงาม และพับริมปกซ้อนไว้ตลอด ผ้าที่นิยมนำมาตัดเสื้อกันมาก คือ ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน และผ้าชีฟอง
ผ้านุ่ง ใช้ผ้าซอแกะหรือผ้าปาเต๊ะนุ่งสั้นแค่เข่า ทำเป็นจีบทบกันที่สะโพกทางด้านขวาประมาณ ๕ – ๗ จีบ ตามแบบการนุ่งผ้าของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซียเพื่อเน้นความสะดวกในการร่ายรำ
ผม นิยมเกล้าผมขึ้นติดดอกไม้สีทองทางขวา ปักเรียงเป็นแถว

๒.การแต่งกายแบบผู้หญิงล้วน
เป็นการแต่งกายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการแสดงชุดพิธีเปิดสนามงานกีฬาเขตแห่งประเทศไทยครั้งที่ ๑๔จ.ปัตตานี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ เสื้อในนาง ไม่มีแขนสีดำ ผ้านุ่งเป็นโสร่งบาติกหรือผ้าซอแกะ สอดดิ้นเงินทองแบบมาเลเซีย ตัดเย็บแบบหน้านางหรือเลียนแบบจับจีบหางไหล ผ้าสไบ สำหรับคลุมไหล่ จับจีบเป็นใบด้านหน้า

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
ได้แก่ ไวโอลิน รำมะนา ฆ้อง แมนโดลิน ขลุ่ย มาลากัส

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง
ได้แก่ พัด มีลักษณะเป็นแพสีดำขนาดใหญ่ มีการฉลุลวดลายสวยงามปัจจุบันมีการตกแต่งพัดโดยติดแถบสีทองหรือสีอื่นๆ ที่ริมพัด แล้วใช้แพรสีสดตัดเป็นริ้วๆ

โอกาสที่ใช้แสดง
รำตารีกีปัสนิยมใช้แสดงในงานพิธีการ งานฉลอง และงานรื่นเริงทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น