วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การแสดงของศาสนาอิสลาม

การแสดงของศาสนาอิสลาม

การแสดงดาระ


                 ดาระ เป็นศิลปะการแสดงประเภทรำพื้นเมืองของชาวไทยอิสลาม ที่มีเฉพาะภายในจังหวัดสตูล มีความเป็นมาที่เก่าแก่ เนื้อเพลงมีหลายภาษา และมีความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลาม ปัจจุบันหาชมได้ยาก ดาระน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบภาคตะวันออกกลาง ผ่านอินโดนีเซีย มาเลเซีย เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดสตูล หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา การแสดงดาระได้ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมจนเกือบจะสูญหายไป
            ในอดีตคนในหมู่บ้านจะนิยมรำดาระเพื่อความบันเทิง หลังจากทำงานหนักมาตลอดวัน มีผู้จัดตั้งเป็นคณะรำดาระเป็นอาชีพ ทุกงานที่เป็นงานมงคลจะจัดให้มีการแสดงดาระเสมอ เช่นงานแต่งงาน งานเข้าสุหนัด งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีลาซัง งานเมาลิด วันฮารีรายอ และงานรื่นเริงต่าง ๆ ปัจจุบันการแสดงดาระหาชมได้ยาก จะแสดงเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น
            การแสดงดาระจะรำเป็นคู่ ๆ ไม่จำกัดจำนวน เดิมผู้แสดงเป็นชายล้วน แล้วแต่งคู่รำให้เป็นหญิง ต่อมาจึงเป็นชายจริงหญิงแท้ การแสดงจะเป็นลักษณะของการร่ายรำ หัวใจสำคัญอยู่ที่ความพร้อมเพรียง ท่ารำดาระแต่เดิมมีมากถึง ๔๔ เพลง ถือท่ารำ ๑ ท่าต่อเพลง ๑ เพลง ปัจจุบันนิยมแสดงเพียง ๖ - ๙ เพลง การแสดงดาระจะรำหลาย ๆ เพลงติดต่อกัน เช่นเดียวกับรองเง็ง และรำวงมาตรฐาน เริ่มจากเพลงไหว้ครูทุกครั้ง และจบด้วยเพลงอำลา ท่ารำดาระมีท่านั่งรำ และท่ายืนรำ เริ่มแสดงโดยผู้แสดงออกมานั่งเรียงหน้ากระดานเป็นคู่ ชาย - หญิง การแสดงท่ารำของแต่ละเพลง มีการเดินวนแปรแถวในลักษณะต่าง ๆ ความสวยงามอยู่ที่การเคลื่อนไหวมือและเท้าตามจังหวะกลองรำมะนา ที่มีจังหวะช้า - เร็ว สลับกัน
            ผู้รำดาระส่วนใหญ่จะแต่งกายแบบพื้นเมือง คือผู้ชายสวมหมวกไม่มีปีก หรือบางทีก็สวมผ้าโพกศีรษะแบบเจ้าเมืองมลายูสมัยก่อน สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวผ่าครึ่งอก นุ่งกางเกงขายาวขากว้างคล้ายกางเกงจีน สีเดียวกับเสื้อ แล้วใช้ผ้าโสร่งที่มีลวดลายสวยงาม ทับกางเกงและชายเสื้ออีกครั้งหนึ่ง โดยให้โสร่งยาวเหนือเข่า ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก แบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทองเป็นระยะ นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวา ยางกรอมเท้าใช้ผ้าบาง ๆ คลุมไหล่เรียกว่าผ้าสไบ มีเครื่องประดับด้วยทองรูปพรรณชนิดต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม
            เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียงอย่างเดียวคือกลองรำมะนา จะใช้กี่ใบก็ได้ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้เพียง ๔ ใบ มีผู้ตีซึ่งเป็นนักร้องและลูกคู่ ๔ คน ทำนองเพลงสูง ๆ ต่ำ ๆ มีท่วงทำนองสั้น ๆ ง่าย ๆ ร้องวนเวียนไปมากี่เที่ยวก็ได้ โดยแบ่งบทเพลงออกเป็นสองส่วน คือเนื้อเพลง และสร้อยเพลง เนื้อเพลงมีภาษาอาหรับพื้นเมือง ภาษาฮินดี ภาษาชวา ภาษาชาวเกาะซีลีเบส และภาษาไทย เนื้อหาของเพลงเริ่มตั้งแต่การกล่าวสรรเสริญพระเจ้า การคารวะผู้ชม กล่าวถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิต และกล่าวลา ตัวอย่างเนื้อเพลงที่ถอดออกเป็นภาษาไทย เป็นดังนี้
            เพลงที่ ๑  มีเนื้อความว่า ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนำทางและส่องสว่างแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมีศาสดาเป็นผู้นำมาซึ่งสัจธรรม
            เพลงที่ ๒  มีเนื้อความว่า คารวะถึงท่านผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐาน ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่ประตูถูกเปิดออกข้างหน้านี้ เราดั้นด้นมาถึงระยะทางที่แสนไกล จากดินแดนต่างถิ่นที่เรียกว่ามลายู เรามิได้หมายความว่าจะเป็นผู้รู้เป็นครูหรือผู้สอนสั่ง และแน่นอนสิ่งที่ส่งสู่ท่านคือความสันติ ทั้งยังหวังว่าไมตรีที่เสนอนี้คงไม่ถูกปฏิเสธ
            เพลงที่ ๓  มีเนื้อความว่า คุณลักษณะแห่งความบริสุทธิ์ และสายสัมพันธ์ของการเป็นพี่น้องกัน ได้มียอดหญิงผู้หนึ่งสืบทอดเจตนารมย์อันบริสุทธิ์อย่างเหนียวแน่น ผู้นั้นคือ ฟาติมะ ธิดาของท่านศาสดา ผู้มีจุดยืนอย่างมั่นคง และถ่ายทอดแบบอย่างนั้น เพื่อให้สตรีเจริญรอยตาม จนเรียกว่ากุลสตรี จงปฏิบัติแม้แบบอย่างนี้ผ่านมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
            เพลงที่ ๔  มีเนื้อความว่า จงสังเกตการกระพือปีกของหมู่นก ที่บินข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เพียงเพื่อแสวงหาปัจจัยยังชีพ อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงเผ่าพันธุ์ และมนุษย์ก็มิได้มีวิถึชีวิตที่แตกต่างจากมันเลย
            เพลงที่ ๕  มีเนื้อความว่า พระเจ้าแห่งข้าผู้เป็นใหญ่เหนือสิ่งใด อภัยเถิดหากนำหลักฐานเหล่านี้มาอ้าง ในทางที่ต้องย่างเท้าก้าวไป เพื่อค้นหาสัจธรรมจากพระองค์ผู้ประทานมา
            เพลงที่ ๖  มีเนื้อความว่า โลกคือโลก ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวเองว่าเป็นความไพศาล และเป็นสัจธรรมอันหยั่งรู้ได้ยาก หากมีความท้อคอยยอมแพ้แก่สิ่งนั้น แต่การอยู่อย่างผู้มีชัยนี้ยากยิ่ง
            เพลงที่ ๗,  ถอดความไม่ได้
            เพลงที่ ๙  เป็นเพลงอำลามีความว่า เหนือแผ่นดินดันอุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารนี้ มีโชคลาภโปรยหว่านอยู่สุดพรรณนา ข้าจำใจจากถิ่นนี้แล้ว และเดินทางกลับโดยอาศัยสายน้ำ ด้วยความห่วงอาลัยในการจาก หากข้าสามารถในการถอดดวงใจ วางไว้เบื้องหน้าท่านได้ ข้าก็จะถอดไว้เพื่อเป็นพยานยืนยันในความมีเจตนาบริสุทธิ์นี้

การแสดง ลิเกฮูลู  = ทำนองเสนาะ 

"...บ้านใครใครก็รัก บ้านใครใครก็หวง เต่าเล ปะการัง กุ้งกั้ง เราก็ห่วง โอะ โอ้ โอะ โอ กือเละมารี กลับมา มาช่วยเป็นหูเป็นตา ดูแลทะเลบ้านเรา..."
     ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวไทยมุสลิม เดิมทีมักเล่นกันภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทำไร่ไถนา ต่อมาได้ปรับเป็นการแสดงและใช้ในงานพิธีต่างๆ อาทิ งานมาแกปูโละงานสุหนัด งานเมาลิด หรืองานฮารีรายอ
"ลิเกฮูลู หรือดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า ลิเก หรือดิเก มาจากคำว่า ซีเกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่า ฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึง การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้.."
    อีกวรรคหนึ่งในหนังสือเล่มเดียวกันบอกว่า ลิเก หรือ ดิเกร์ เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย 2 ประการ คือ 1. เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า ดิเกร์เมาลิด 2. กลอนโต้ตอบนิยมเล่นกันเป็นกลุ่มคณะ เรียกว่า ลิเกฮูลู บ้างก็ว่า ได้รับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนราห์ซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย
"ฮูลู หมายถึง คนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เช่น อยู่เชิงเขา อยู่ห่างทะเล นี่คือฮูลู เพราะฉะนั้นลิเกฮูลูจึงเป็นการละเล่นของคนที่อยู่ห่างไกล แต่ในมาเลย์เรียกลิเกปารัต ซึ่งปารัตแปลว่า ทิศตะวันตก คือคนมาเลย์รับศิลปะนี้ไปจากปัตตานี ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขา ที่มาเลย์เลยเรียกว่า ลิเกปารัต แต่รูปแบบไม่ต่างกันเลย"


อานาชิด = เพลง


 "การขับร้องอานาชิดมีทั้งภาษาอาหรับที่เป็นต้นแบบ และภาษาไทยที่ประยุกต์แล้ว แม้จะเป็นภาษาประยุกต์ แต่ท่วงทำนองหลักก็ยังใช้ทำนองที่เรียกว่า ทำนองทะเลทราย ซึ่งทำนองนี้ถ้าฟังแล้วจะรู้สึกถึงความเป็นอาหรับ อาจจะประยุกต์เข้ากับทำนองสตริง ลูกทุ่ง หรืออะไรบ้าง แต่ก็ยังมีกลิ่นของทะเลทรายมากกว่า" ซาการียาว่า
   เครื่องดนตรีของอานาชิดมีชิ้นเดียว เรียกว่า กุมปัง (กลอง) ใช้ตีประกอบการร้องเพลง ซึ่งจะมีผู้ร้องนำ 1 คน และประสานเสียงอีก 3-4 คน ส่วนมากอานาชิดจะใช้แสดงในมัสยิด ตาดีกา งานรายอ หรือวันออกบวช ซึ่งเนื้อหาของอานาชิดจะเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมคล้ายลิเกฮูลู ต่างกันเพียงทุกเนื้อหาของอานาชิดจะผูกโยงไว้ด้วยคำสอนของศาสนา ข้อห้าม รวมถึงการเป็นมุสลิมที่ดี


         เป็นการแสดงท่าทางนาคาอันวิจิตร สื่อให้เห็นถึงเรื่องราวตามตำนานที่ พญานาคมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นปลอมกายเป็นมนุษย์เพื่ออุปสมบท แต่พญานาคก็ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งการจะครองผ้าไตรจีวร จุดเด่นขององค์นี้ อยู่ที่ฉากการเข้าอุปสมบทของพญานาค กำลังครองผ้าขาวที่มีความยาวนับสิบเมตร แต่ปลายผ้ากลับมีหางโผล่ออกมา สื่อให้เห็นว่าอย่างไรเสียก็คือนาค และฉากที่สร้างความสะเทือนทางอารมณ์ในความวิจิตรของการแสดงนั้น ก็คือ การที่ไม่สามารถอุปสมบทได้ แต่ขอให้เราจดจำท่านไว้เพื่อเตือนสติเหล่าพุทธบุตร และพุทธศาสนิกชน ด้วยการฝากไวเพียงแต่ชื่อว่าบวชนาค ” 

1 ความคิดเห็น: